เนื้อหาภายใน
หน้าแรก
คำนำ
พระบรมสารีริกธาตุ
  ความหมาย
  ประเภท
  คุณลักษณะ
  ลักษณะต่างๆ
  พระธาตุลอยน้ำ
ตำนานการเกิด
  ตำนานการเกิด
  สถานที่ประดิษฐาน
  พระอดีตพุทธเจ้า
  ธาตุปรินิพพาน
พุทธเจดีย์
  พุทธเจดีย์
  บุคคลที่ควรสร้างสถูป
  เจดีย์ประจำนักษัตร
พระธาตุพุทธสาวก
  พระธาตุพุทธสาวก
  สาวกธาตุพุทธกาล
  สาวกธาตุปัจจุบัน
บูชาพระธาตุ
  บูชาพระธาตุ
  อัญเชิญพระธาตุ
  บทบูชาพระธาตุ
  สรงน้ำพระธาตุ
  ในพุทธดำรัส และพระสาวก
  ในเทวดาและเปรต
พระธาตุปาฏิหาริย์
  พระธาตุปาฏิหาริย์
  ลักษณะการเกิด
  ประสบการณ์พระธาตุ
ภาพถ่ายพระธาตุ
  พระบรมธาตุ 1
พระบรมธาตุ 2
พระบรมธาตุ 3
  สาวกธาตุพุทธกาล
  สาวกธาตุปัจจุบัน
  วิธีถ่ายภาพพระธาตุ
บทความเกี่ยวกับพระธาตุ
พิพิธภัณฑ์พระธาตุ
กระดานข่าวสนทนา
บรรณานุกรม
บอกกล่าว
ภาพถ่ายพระธาตุ <<< กลับไปหน้าภาพถ่ายพระธาตุพระอรหันตสมัยพุทธกาล

พระอรหันตธาตุสมัยพุทธกาล**

พระอุปปะคุต

"พระอุปปะคุต
สัณฐานหัวคอดท้ายคอด พรรณดังสีดอกพิกุลแห้ง สีเปลือกหอม"

ประวัติ พระอุปปะคุต

พระอุปคุตตะ คือ พระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งได้รับอาราธนามาเพื่อป้องกันพญามาร ที่ต้องการทำลายงานฉลองสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ กล่าวว่าท่านมีฤทธิ์มาก ทรงฌานสมาบัติอยู่ที่ปราสาทในท้องมหาสมุทร ชื่อเต็มของท่านคือ พระกีสนาคอุปคุตเถระ

ราวปี พ.ศ. ๒๑๘ ในกาลแห่งสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงได้ทำการสร้างพระเจดีย์ขึ้น ๘๔,๐๐๐ แห่ง ทั่วชมพูทวีปภายหลังจากการค้นพบที่ซ่อนพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งความตอนนี้อ่านได้ใน ตำนานธาตุนิธาน

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงอัญเชิญพระบรมธาตุสู่เมืองปาตลีบุตรี เมื่อทำการสักการะแล้ว ได้แจกพระบรมธาตุไปทั่วทุกๆ นคร ๘๔,๐๐๐ แห่ง ซึ่งพระองค์มีพระราชประสงค์จะฉลองพระสถูปทั้ง ๘๔,๐๐๐ แห่ง และจะกระทำสักการบูชาพระบรมธาตให้ไดุ้ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน แต่พระองค์ทรงเกรงว่า จะมีมารเข้ามาทำลายพิธีในครั้งนี้ จึงได้อาราธนาพระอริยสงฆ์เพื่อมาป้องกัน แต่ก็ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดที่จะรับอาสาได้เลย ครั้นแล้วได้หลวงเณรองค์หนึ่งมีฌานสมาบัติชั้นสูง แม้กระนั้นท่านก็ยังไม่สามารถที่จะรับอาสาในการปราบมารได้ แต่ท่านได้กล่าวแนะนำว่า ควรไปอาราธนาพระอุปคุตเถระซึ่งมีสมาบัติสูงยิ่ง และสามารถจักทรมานมารใจบาปให้พ่ายแพ้มหิทธานุภาพได้ โดยกล่าวว่า

"กาลเมื่อสมเด็จพระบรมครูยังทรงพระชนมายุอยู่ก็ได้ตรัสพยากรณ์ไว้ว่า สืบไปในภายหน้าจะมีภิกษุรูปหนึ่งมีนามอุปคุตเถระ จักได้ทรมานพระยามารให้เสียพยศอันร้ายพ่ายแพ้อานุภาพ แล้วจะกล่าวปฏิญาณปรารถนาซึ่งพุทธภูมิ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่ทราบพุทธพยากรณ์บ้างฤาไฉนหรือหลงลืมไปจงระลึกดูเถิด"

พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้สดับก็ชื่นชมยินดี จึงบังคับใช้พระภิกษุสองรูป ไปอาราธนาพระอุปคุตขึ้นมาจากท้องมหาสมุทร เมื่อพระอุปคุตมาถึง พระสงฆ์ทั้งปวง มอบทัณฑกรรมให้แก่พระกีสนาคอุปคุต เนื่องจากท่านไม่ให้้สามัคคีอุโบสถกับสงฆ์เลย หลีกหนีไปอยู่แต่ผู้เดียว เมื่อพระอุปคุตทราบแล้วจึงน้อมรับทัณฑกรรม ซึ่งคือหน้าที่ป้องกันอันตรายต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในงานสมโภชพระสถูป ทั้ง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน

ลำดับนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชมีพระหฤทัยปรารถนาจะกระทำสักการบูชาแก่พระมหาสถูป สถิตแทบฝั่งแม่น้ำคงคา เสด็จมาสู่ลานพระมหาเจดีย์ พร้อมด้วยอเนกนานาสรรพดุริยางคดนตรีแตรสังข์ดังสนั่น ตามริมฝั่งแม่น้ำคงคาให้โชตนาการสว่างไปด้วยประทีปอเนกอนันต์จะนับบมิได้ แลพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเป็นอันมากก็มาสโมสรสันนิบาตพร้อมกันในที่นั้น เพื่อจะถวายวันทนาพระมหาเจดียฐาน

ในขณะนั้นพระยาวัสดีมารผู้ใจบาป ทราบเหตุแห่งบรมกษัตริย์กระทำสักการบูชา จึงลงมาจากชั้นปรนิมมิตวัสวดีเทวโลกบันดาลด้วยฤทธิ์ด้วยอำนาจ ให้บังเกิดมหันตพยุใหญ่พัดมาแต่ที่อันไกลปรารถนาจะให้ดับเสียซึ่งประทีปทั้งหลาย จะกระทำอันตรายแก่การสักการบูชาพระมหาสถูป
ในสมัยนั้นจึงพระอุปคุตเถรเจ้า จึงกระทำอิทธิฤทธิ์ด้วยอำนาจอธิษฐาน บันดาลให้มหาวาตแห่งพระยามารให้อันตรธานไปจากที่นั้น

ฝ่ายพระยามารก็บันดาลให้บังเกิดห่าฝนทราบกรดอันรุ่งโรจดุจเพลิงตกลงมาอีกเล่า
พระมหาเถระก็กระทำอธิษฐานฤทธิ์หอบเอาเมล็ดทรายกรดนั้นทิ้งออกไปเสียนอกขอบเขาจักรวาล

ลำดับนั้น พระยามารก็บันดาลฤทธิ์เป็นห่าฝนลมกรดแลห่าฝนน้ำกรด แลห่าฝนอาวุธต่าง ๆ แลห่าฝนเท่าริ่งห่าฝนเปือกตมตกลงมาโดยลำดับ พระมหาเถระก็กระทำอธิษฐานฤทธิ์หอบเอาห่าฝนทั้ง ๕ ประการนั้น ทิ้งออกไปเสียนอกขอบจักรวาลอันตรธานไปทั้งสิ้น

พระยามารก็มีจิตพิโรธยิ่งนัก จึงนฤมิตกายเป็นรูปโคใหญ่แล่นจะไปชนประทีปให้ดับทั้งสิ้น พระมหาเถระก็นฤมิตพระกายเป็นรูปพยัคฆ์ใหญ่ แล่นไปจะจับซึ่งโค ๆ นั้นตกใจกลัวก็ร้องด้วยศัพท์สำเนียงอันพิลึก แลสมเด็จบรมกษัตริย์กับทั้งมหาชนสมาคมแลพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายก็เห็นทั่วกันสิ้นทั้งนั้น เมื่อสัตว์ทั้งสองยุทธนาการแก่กัน แลโคนั้นก็ล้มลงถึงซึ่งปราชัย ก็กลับกลายเป็นรูปนาคราชมีศรีษะได้ ๗ ศรีษะ เข้าคาบคั้นเอากายพยัคฆ์อันใหญ่ ๆ ก็กลายกลับเป็นรูปพระยาสุบรรณ(ครุฑ)คาบคั้นเอาศรีษะแห่งนาคลากไปมาถึงปราชัยพ่ายแพ้
แลพระยามารก็มละเสียซึ่งรูปนาคแปรภาคเป็นรูปยักษ์พิลึกพึงกลัวยิ่งนัก ถือซึ่งกระบองทองแดงใหญ่เท่าลำตาลกวัดแกว่งเข้าประหารซึ่งครุฑ พระมหาเถระก็มละเสียซึ่งรูปครุฑแปรพระกายเป็นรูปยักษ์ใหญ่ขึ้นไปกว่าก่อนนั้นสองเท่า ถือซึ่งกระบองทั้งสองอันรุ่งโรจน์ด้วยเปลวเพลิงกวัดแกว่งทั้งสองหัตถ์ เข้าประหารซึ่งเศียรแห่งมารยักษ์ แลพระยามารก็สะดุ้งตกใจกลัวจึงดำริว่า อาตมะนฤมิตเป็นรูปใด ๆ สมณะองค์นี้ก็นฤมิตเป็นรูปนั้น ๆ ใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีกสองเท่า อาตมะจะกระทำประการใดดีเห็นจะพ่ายแพ้แก่พระสมณะองค์นี้เป็นมั่นคง จึงแสดงองค์ให้ปรากฏเป็นรูปพระยามาร ยืนประดิษฐานอยู่ตรงหน้าพระมหาเถระ
พระมหาเถระเห็นซึ่งพระยามารจึงจินตนาการว่า
ผิฉะนั้นอาตมะจะกระทำให้ยักษ์ผู้นี้สิ้นฤทธิ์สิ้นความคิดแลอุบายที่จะปลดเปลื้องได้ ผู้เป็นเจ้าก็แปรกายจากรูปยักษ์กลับเป็นรูปพระมหาเถระ จึงนฤมิตซึ่งรูปอสุภสุนัขอันพึงเกลียดกอปรด้วยกลิ่นเหม็นฟุ้งขจรเต็มไปด้วยหมู่หนรอนทั่วทั้งนั้น เอาอสุภสุนัขเข้าผูกพันคอพระยามาร แล้วกล่าวประกาศว่า
บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งถึงแม้นมาตรว่า เทพดาแลมหาพรหมเป็นอาทิก็ดี บมิอาจปลดเปลื้องแก้ออกได้
ดูกรมารผู้ใจบาป ท่านจงไปเถิดจากที่นี้ แลพระยาวัสวดีมารมีทรากอสุภสุนัขพันธนาการกับศอ จะปลดเปลื้องออกด้วยตนเองก็บมิได้ จักแก้ไขก็สิ้นความคิด มีจิตละอายอัปยศแก่เทพดามนุษย์ทั้งปวง จึงเหาะไปสู่สำนักท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ แล้วกล่าววิงวอนว่า
ข้าแต่ท่านผู้นฤทุกข์ จงช่วยปลดเปลื้องซึ่งอสุภสุนัขออกจากศอแห่งข้ากาลบัดนี้ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ จึงถามว่า
เหตุใด อสุภสุนัขจึ่งมาผูกพันซึ่งศอแห่งท่าน ข้าแต่ท้าวจตุโลกบาลมหาราช ภิกษุมีนามว่า อุปคุต เธอกระทำพันธนาการแก่ข้า
เทวทั้ง ๔ กล่าวว่า ข้าแต่พระยามาราธิราช พระภิกษุองค์นั้นท่านทรงมเหศักดานุภาพ ท่านกระทำพันธนาไว้ ข้าพเจ้าบมิอาจปลดเปลื้องออกได้
พระยามารก็เหาะไปสู่สำนักท้าวสหัสนัยน์แลสุยามเทวราช สันดุสิตเทวราช แลท้าวสหบดีมหาพรหม กล่าววิงวอนให้ช่วยแก้พันธนาการเหมือนดังนั้น
ท้าวเทวราชทั้งหลายแลท้าวมหาพรหมก็กล่าวว่ามิอาจแก้ได้
พระภิกษุองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ทรงซึ่งฉฬาภิญญาสัมมาสัมพุทธสาวก กอปรด้วยมเหศักดานุภาพมาก เราทั้งหลายบมิอาจแก้ซึ่งพันธนาการแห่งท่านได้ ตัวท่านจงกลับไปสู่สำนักแห่งพระภิกษุองค์นั้น แล้วจงวิงวอนด้วยสุนทรมธุรกถา ท่านก็จะปลดเปลื้องซึ่งอสุจิพันธนาการนั้นออกด้วยพระหัตถ์แห่งท่านเอง อันผู้อื่นนั้นกลัวเกรงอานุภาพแห่งท่าน ใครเลยจะแก้พันธนาการออกได้ เมื่อพระยามารได้สดับก็มีหฤทัยรันทดท้อฤทธิ์ สิ้นคิด สิ้นที่พึ่งซึ่งจะไปหาผู้ใดให้ช่วยแก้ไขอีกนั้นก็บมิได้มี จึงกลับมาสู่สำนักพระมหาเถระกับทั้งกุกกุรอสุภซึ่งพันธนา นบบาทาพระผู้เป็นเจ้าจงการุญภาพช่วยเปลื้องปลดซึ่งอสุจิพันธนานี้ ผู้เป็นเจ้ามีชัยชำนะแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าปราชัยไม่สู้รบสืบไปอีกแล้ว พระมหาเถระจึงกล่าวว่า
ดูกรมารผู้ใจบาป จงไปสู่บรรพตอันนั้น พระยามารก็ไปโดยพลัน สู่บรรพตตามเถรวาทบังคับ
ลำดับนั้น พระมหาเถระก็ไปแก้ออกซึ่งกุกกุรอสุภซึ่งพันที่ศอแห่งมาร แล้วเปลื้องเอากายพันธ์(ประคดเอว)ของผู้เป็นเจ้าพันศอพระยามารเข้าอีก แล้วนฤมิตกายพันธ์(ประคดเอว นั้นให้ยาวรวบรัดเข้ากับภูเขาอันนั้นให้มั่นคง จึงกล่าวแก่มารว่า
จงอยู่ในที่นี้กว่าสมเด็จบรมนราธิบดีธรรมาโศกราช จะกระทำมหามหกรรมสักการบูชาพระมหาสถูปถ้วน ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน สำเร็จตราบใด ท่านจงอยู่ไปในที่นี้สิ้นตราบนั้น แลพระยามารก็ต้องพันธนาการประจานอยู่กับบรรพต พระมหาเถระก็ไปสำราญอิริยาบถอยู่โดยควรแก่ผาสุกวิหารเมื่อการสักการบูชาพระมหาสถูปถ้วน ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน วันสำเร็จแล้ว พระมหาเถระจึงไปสู่ที่ใกล้แห่งพระยามาร แต่บังกายอยู่เพื่อจะสดับ ซึ่งเสียงแห่งพระยามารจะว่า ขานประการใดบ้าง ฝ่ายพระยามาราธิราชก็เสียพยศอันร้าย จึงอนุสรคำนึงถึงพระคุณสมเด็จพระสัพพัญญู แล้วออกวาจาว่า
กาลเมื่อพระพุทธองค์ทรงสถิตเหนือพระรัตนบัลลังก์ ภายใต้ทุมินทรพฤกษมหาโพธิ ข้าพระบาทบมิอาจอดกลั้นเสียซึ่งความโกรธได้ แลขว้างไปซึ่งจักราวุธอันคมกล้า อันสามารถตัดเสียซึ่งวชิรบรรพตให้ขาด ครุวนาดุจตัดซึ่งหน่อไม้ไผ่ พระพุทธองค์ทรงพิจารณาซึ่งพระสมติงสบารมีญาณ แลจักรนั้นก็กลายกลับเป็นกุสุมเพดานกางกั้น ในอุปริมทิศาภาคพวกพลบริษัททั้งหลายอันเศษก็ขว้างไปซึ่งนานาวิธาวุธมียอดภูเขา เป็นอาทิก็กลับกลายเป็นพวกบุปผชาติตกลงยังพื้นพสุธา แลข้าผู้ชื่อว่า มาราธิราชก็ปราชัยพ่ายแพ้ แลระลึกถึงพระพุทธคุณแล้วกล่าวพระคาถาว่า
นโม ปุริสาชญฺญ เป็นอาทิดังนี้ สมเด็จพระชินสีห์พระองค์ใดทรงพระมหากรุณากระทำซึ่งสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง แลเป็นที่พึ่งที่พำนักแก่สรรพสัตว์อันหาที่พึ่งบมิได้ สิ้นกาลทุกเมื่อ เป็นนิจนิรันดร์แล สมเด็จพระชินสีห์พระองค์นั้น อันประเสริฐด้วยคุณหาผู้จะเสมอบมิได้ จงมาเป็นที่พึ่งที่พำนักแห่งอาตมาในกาลบัดนี้
ประการหนึ่ง แต่ปางก่อนข้าผู้ชื่อว่าวัสวดีกระทำภยันตรายแก่พระพิชิตมาร มีประการต่าง ๆ เป็นอันมาก พระผู้มีพระภาคก็มิได้กระทำโทษตอบแก่ข้ามาตรว่า สิ่งใดหน่อยหนึ่งบมิพึงมี กาลบัดนี้พระสาวกแห่งพระพุทธองค์กะไรช่างไม่มีความกรุณา กระทำโทษแก่อาตมาให้เสวยทุกข์สาหัสเห็นปานดังนี้
แลพระยาวสัวดีมารยิ่งทุกข์โทมนัส ก็ถีบซึ่งบรรพตนั้นด้วยบาททั้งสองให้จลาการหวั่นไหวต่าง ๆ โดยเบื้องบนเบื้องต่ำดังจะทำลายลงด้วยพลัน สะท้านสะเทือนพสุธาสนั่นกัมปนาท ทั้งขุนเขาพระสิเนรุราชก็น้อมยอดหวั่นไหว พระมหาสาครสมุทไทก็กำเริบขึ้นเป็นระรอก แลพระยามารกลับซ้ำดำริถึงพระขันติคุณแห่งพระมหากรุณา จึงออกอุทานกถาว่า
ผิว่าอาตมามีกุศลสมภารได้ส่ำสมไว้ เบื้องว่าพระสัพพัญญูได้ตรัสในอนาคตกาลฉันใด ขอจงอาตมะได้เป็นพระสัพพัญญูบังเกิดในโลกเหมือนดังนั้น จะได้กรุณาเป็นที่พึ่งสรรพสัตว์แสวงหาซึ่งประโยชน์ โปรดวไนยประชาทั้งปวงทั้งสกลโลกธาตุ
ขณะเมื่อพระยามาราธิราชออกวาจาปรารถนาพุทธภูมิด้วยประการดังนี้ พระมหาเถระก็สำแดงกายินทรีย์ให้ปรากฏ แล้วมาโดยด่วนเข้าแก้พันธนาพระยามารด้วยฉับพลัน แล้วขอให้พญามารนั้นขมาโทษโดยออกพระโอษฐ์ว่า
ดูกรเทพบุตร ท่านจงอดโทษแก่อาตมา อันว่าประโยชน์แห่งท่านคือ ความปรารถนาพุทธภูมิอาตมะก็ให้บังเกิดได้แล้ว แลอาตมะห้ามเสียบมิให้ท่านกระทำอันตราย ในการบุญแห่งบรมกษัตริย์ บัดนี้ท่านก็ถือเอาปฏิญาณซึ่งภาวะจะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ตั้งแต่นี้ตัวท่านก็เป็นปูชนิยบุคคล คือ พระโพธิสัตว์ ควรที่โลกทั้งหลาย จะกระทำนมัสการบูชา ฝ่ายพระยามาราธิราชจึงกล่าวตอบว่า
พระผู้เป็นเจ้าเป็นพระพุทธสาวกช่างกระไรไม่มีพระทัยกรุณาแก่ข้าพเจ้าผู้เป็นมารเห็นปานดังนี้บ้างเลย
ดูกรพระยามารเรากับท่านนี้เป็นคู่ทรมานกัน เพราะเหตุนั้นจึงไม่กรุณา กระทำโทษแก่ท่านทั้งนี้เพื่อจะยังท่านให้มีจิตยินดีปรารถนาพุทธภูมิบารมีญาณ ตัวท่านก็เที่ยงที่จะได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญู สมเด็จพระบรมครูก็ได้ตรัสทำนายไว้ว่า
อาตมะนี้จะได้ทรมานซึ่งพระยามาร ให้เสียพยศในอนาคตกาลแลพระยามารนั้นจะถือเอาปฏิญาณซึ่งภาวะจะเป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า ท่านจงมีศรัทธาละเสียซึ่งจิตบาป อย่าได้กระทำกรรมอันหยาบสืบไป อนึ่งท่านจงได้อนุเคราะห์แก่อาตมา ด้วยสมเด็จพระศาสดาบังเกิดในโลก เสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานเสียแล้ว เราได้เห็นแต่พระธรรมกายบมิได้ทันเห็น ซึ่งพระสริรกายท่านจงสงเคราะห์นฤมิตพระรูปกายแห่งพระศาสดาจารย์ พร้อมด้วยอาการทั้งปวงสำแดงแก่เราให้เห็นประจักษ์กับทั้งพระอัครสาวกทั้งคู่ให้ปรากฏด้วยฤทธิ์แห่งท่านกาลบัดนี้
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เบื้องว่าข้าพเจ้าจะนฤมิตกายเป็นองค์พระชินสีห์ให้เห็นประจักษ์แล้ว พระผู้เป็นเจ้าจงอย่าได้ถวายนมัสการข้าพเจ้า พระมหาเถระก็รับคำพระยามาร ๆ จึงเข้าไปในไพรสณฑ์ตำบลหนึ่ง พระมหาเถระจึงให้สันนิบาตพระภิกษุทั้งหลายเป็นอันมาก มาถึงพร้อมกันโดยเร็ว ด้วยอำนาจฤทธิ์แห่งผู้เป็นเจ้า แลพระสงฆ์องค์ใดจะใคร่เห็นพระผู้ทรงพระภาคองค์นั้น ก็ถือธูปเทียนสุคันธวิเลปนบุปผามาสถิตแวดล้อมพระอุปคุตเถรเจ้าแล้วก็กล่าวว่า
เราจะดูซึ่งพระพุทธสริรรูปจะกระทำสักการบูชา ในกาลนั้นพระยามารก็นฤมิตกายเป็นองค์พระสัพพัญญูเจ้า ประดับด้วยพระทวติงสมหาปุริสลักษณะแล พระอสีตยานุพยัญชนพิจิตรโสภิตโอภาส ด้วยพยามประภาฉัพพิธพรรณรังสี มีทั้งคู่พระอัครสาวกสถิตในทิศเบื้องซ้ายขวา แวดล้อมด้วยพระอสีติมหาสาวกเป็นบริวาร สำแดงให้ปรากฏแก่มหาชนสันนิบาตทั้งปวง แลคำเกจิอาจารย์บางองค์ก็กล่าวว่า
พระเจ้าธรรมาโศกราชกับหมู่อมาตย์แลราชบรรพษัท ก็มาทัศนาการอยู่ ณ ที่นั้นคอยแลดู พระอุปคุตเถระเมื่อได้ทัศนาพระพุทธสริรรูปกายกับทั้งพระมหาสาวกบริวารทั้งหลายปรากฏ ดังนั้น ก็บังเกิดโลมชาติชูชันด้วยอจลประสาทศรัทธาลืมไปว่าเป็นพระยามาร ก็ถวายนมัสการ พระพุทธสริรรูปด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แลมหาชนนิกรทั้งหลาย มีสมเด็จบรมกษัตริย์เป็นประธาน ก็กระทำนมัสการสักการบูชาทั้งสิ้นด้วยกัน ขณะนั้นพระยามารก็ยังพระพุทธสริระรูปกาย แลสาวกทั้งหลายให้อันตรธาน กลับกลายเป็นรูปพระยามารมาสถิตอยู่ในที่ประชุมชน จึงกล่าวแก่พระมหาเถระว่า

ไฉนพระผู้เป็นเจ้าจึงถวายวันทนาข้าพเจ้าก็ได้บอกไว้แล้ว

ดูกรพระยามาร อาตมะมิได้นมัสการซึ่งท่าน แต่กระทำอภิวันทนาการสรีระพระบรมครู กับทั้งหมู่พระมหาสาวกทั้งปวง

จำเดิมแต่นั้นมา พระยามารก็มีจิตอ่อนน้อมในพระพุทธศาสนา บมิได้หยาบช้าเหมือนดุจแต่ก่อน พระมหาเถระจึ่งกล่าวแก่พระยามารว่า ท่านจงไปโดยควรแก่สุขเถิด พระยามารก็ถวายนมัสการลาสู่สถานเทวพิภพแห่งตน

<<< back

พระบรมสารีริกธาตุ และ พระธาตุพระพุทธสาวก
พุทธบูชา 2542 - 2553 @ http://www.relicsofbuddha.com