พระอุทายี
"พระอุทายี
สัณฐานยาวแลคดดังกริช พรรณดังสีดอกบัวโรย
สีดอกบานไม่รู้โรย สีดังดอกหงอนไก่ สีดังดอกคำ"
ประวัติ
พระอุทายี
พระเถระรูปหนึ่ง ท่านเป็นบุตรพราหมณ์ชาวกรุง กบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญวัยแล้ว
ได้เห็นอานุภาพของพระพุทธเจ้าในคราวที่พระพุทธองค์เสด็จไปแสดงปาฏิหาริย์
และทรงแสดงธรรมโปรดพระประยูรญาติ แล้วมีความเลื่อมใสเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย
ได้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา พยายามเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ไม่นานนักก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ตามหลักฐานหลายแห่งในพระไตรปิฎก ปรากฏว่าท่านพระอุทายีรูปนี้
เป็นนักเทศน์ที่มีฝีปากดี มีผู้คนนับถือมากอยู่ เช่น ในอังคุตตรนิกาย
เล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านพระอุทายีนั่งแสดงธรรมอยู่ มีพุทธบริษัท
ฝ่ายคฤหัสถ์มาฟังจำนวนมาก พระอานนท์ไปพบท่านในเวลานั้นแล้วนำความไปกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบ
พระพุทธองค์จึงตรัสแก่พระอานนท์เป็นทำนองทรงรับรองความสามารถของพระอุทายีว่า
การแสดงธรรมให้คนฟังนั้นไม่ใช่ของทำได้ง่าย เพราะผู้แสดงธรรมจะต้องมีคุณธรรมถึง
๕ ประการ คือ แสดงธรรมโดยลำดับไม่ตัดลัดให้ขาดความ ๑ อ้างเหตุผลให้ผู้ฟังเข้าใจได้
๑ มีใจเมตตาลาภ ๑ ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือ ไม่ยกตนข่มท่าน
ในสังยุตตนิกายเล่าว่า เมื่อท่านพักอยู่ที่สวนมะม่วงของโตเทยยพราหมณ์
ใกล้นครกามัณฑา ท่านได้แสดงธรรมสอนชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ของนางพราหมณี
เวรหัญจานิโคตรปรากฏว่าชายหนุ่มนั้น ได้มีความเข้าใจในพระธรรมเทศนา
พอใจถือตามคำสอน ทั้งได้รับความอาจหาญร่าเริง แล้วไปเล่าให้นางพราหมณีผู้เป็นอาจารย์ฟังว่าท่านพระอุทายีแสดงธรรมได้ไพเราะทั้งเบื้องต้น
ท่ามกลาง ที่สุด ประกาศพรหมณีก็มีความยินดีได้ขอให้ชายหนุ่มคนนั้นไปนิมนต์ท่าน
ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตน ท่านพระอุทายีได้ไปฉันอาหารที่บ้านของนางพราหมณีตามคำนิมนต์ถึง
๓ ครั้ง แต่ครั้งที่หนึ่งและที่สอง แม้นางพราหมณีจะอาราธนาให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง
ท่านก็มิได้แสดง เพราะนางพรมหมณีนั้นนั่งอาสนะที่สูงกว่าทั้งสวมเขียงเท้า
และคลุมศีรษะ ซึ่งไม่ควรรับฟังธรรมเทศนา แต่ครั้งที่สาม นางพราหมณี
ได้รับคำชี้แจงจากชายหนุ่มจึงได้นั่งอาสนะที่ต่ำกว่า ถอดเขียงเท้า
เปิดศีรษะ นิมนต์ท่านแสดงธรรม โดยตั้งเป็นคำถามว่า
เพราะมีอะไรพระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติว่ามีสุขและทุกข์?
เพราะไม่มีอะไรจึงมิได้บัญญัติว่ามีสุขและทุกข์?
ท่านตอบว่า เพราะอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอยู่
พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติว่า มีสุขและทุกข์ เมื่ออายตนะภายในไม่มี
พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติว่ามีสุขและทุกข์
เมื่อท่านแสดงธรรมจบแล้ว
ปรากฏว่านางพราหมณีเวรหัญจานิโคตร ได้รับความพอใจ มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ได้กล่าวชมเชยธรรมเทศนาของท่าน แล้วปฏิญาณถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
แสดงตนเป็นอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา
ครั้งหนึ่งท่านพระอุทายีได้สนทนากับคหบดีช่างไม้
ชื่อปัญจกังคะถึงเรื่องเวทนา ท่านเห็นว่าพระพุทธองค์ทรง แสดงเวทนาไว้
๓ อย่างคือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา (อุเบกขาเวทนา)
๑ แต่คหบดีปัญจกังคะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงเวทนาไว้เพียง
๒ อย่างคือ สุขเวทนา และทุกขเวทนาเท่านั้น ส่วนอทุกขมสุขเวทนานั้น
ก็ได้แก่ สุขเวทนาอันประณีตนั้นเอง ทั้งสองท่านไม่สามารถจะตกลงกันได้
พระอานนท์ได้ทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ
พระพุทธองค์ทรงรับรองว่า ความเห็นและคำอธิบายของท่านพระอุทายีนั้นถูกต้อง
ปรากฏว่า
ท่านพระอุทายีเป็นผู้สนใจในการสนทนาธรรมและเข้าใจในหลักอนัตตาดีมากเช่น
ครั้งหนึ่ง ท่านพักอยู่ที่โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี ได้สนทนาธรรมกับท่านพระอานนท์
ท่านถามพระอานนท์ว่าพระพุทธองค์แสดงเสมอว่ากายนี้เป็นอนันตตา
ฉะนั้นเราจะสามารถกล่าวยืนยันได้หรือไม่ว่าแม้วิญญาณนี้ก็เป็นอนัตตา
ท่านพระอานนท์ตอบว่า แม้วิญญาณก็เป็นอนัตตาเช่นเดียวกับกาย
แล้วย้อนถามท่านว่า เมื่อเหตุและปัจจัยแห่งจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ
ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณดับไปไม่มีเหลือแล้ว
วิญญาณเหล่านั้นจะปรากฏหรือไม่ ? ท่านตอบว่า วิญญาณจะไม่ปรากฏเลย
ฉะนั้นท่านพระอานนท์จึงสรุปความว่า โดยเหตุนี้เอง วิญญาณจึงเป็นอนัตตา
ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระสงฆ์ว่า โพชฌงค์
๗ เป็นหนทางและข้อปฏิบัติที่อำนวยให้สิ้นตัณหาเป็นส่วนแห่งการทำลายกิเลศ
ท่านพระอุทายีได้ฟังพระธรรมเทศนา แล้วทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงวิธีเจริญโพชฌงค์
๗ ประการนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงโปรดตามที่ท่านทูลอาราธนา
ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นิคม เสตถะ (เสทกะ)
ใกล้นคร สุมภะ ท่านพระอุทายีได้เข้าไปเฝ้าพระองค์จนถึงที่ประทับแล้วกราบทูลพระพุทธองค์ว่า
ท่านมีความจงรัก ความเคารพ
ความละอายและเกรงกลัวพระพุทธองค์มาก จึงได้ออกบวช เพราะเมื่อเป็นคฤหัสถ์นั้น
ท่านมิได้นับถือพระธรรมพระสงฆ์เลย และที่ท่านบวชนั้นก็ด้วยหวังว่าพระพุทธองค์จักทรงแสดงโปรดให้ทราบว่าขันธ์
๕ เกิดขึ้นและดับไปโดยประการนั้น ๆ ครั้นแล้วท่านได้กราบทูลต่อไปว่า
เมื่อท่านอยู่ในเรื่องว่าง พิจารณาความเกิดขึ้นและความเสื่อมแห่งอุปาทานขันธ์
๕ จึงได้รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง และได้กราบทูลว่าถ้าถ่านได้เจริญธรรมเจริญมรรคและโพชฌงค์
๗ ที่ท่านได้บรรลุได้ประสบแล้วให้มากขึ้นธรรม มรรค และโพชฌงค์นั้นก็จักน้อมนำท่านให้ได้บรรลุมรรคผลที่สูงยิ่งขึ้นไป
จักเป็นเหตุให้ท่านทราบว่า ชาติคือความเกิดได้หมดสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำก็ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะพึงทำเพื่อเป็นอย่างนี้อีกมิได้มี
พระพุทธองค์ได้ทรงสดับถ้อยคำของท่านแล้วทรงประทานสาธุการชมเชยความเห็นของท่าน
ครั้งหนึ่ง ท่านพระอุทายีได้มีความดำริว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้นำทุกขธรรมเป็นอันมากออกไปจากภิกษุสงฆ์
ทรงนำสุขธรรมเป็นอันมากมาสู่ภิกษุสงฆ์ ทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากออกจากภิกษุสงฆ์
และทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากมาสู่ภิกษุสงฆ์ แล้วได้นำความดำรินั้นไปกราบทูลพระองค์
ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่งที่อาปณนิคม แห่งอังคุตตราปชนบท แล้วได้เล่าเหตุผลที่มีความดำริเช่นนั้นถวายพระพุทธองค์ว่า
เมื่อก่อนการบัญญัติสิกขาบทนั้น ภิกษุสงฆ์พากันฉันอาหารได้ทั้งเวลาเย็น
เวลาเช้า และเวลาวิกาล (ทั้งทิวาวิกาลและราตรีวิกาล) แต่เมื่อพระพุทธองค์ทรงสอนให้งดการฉันในเวลาวิกาลแล้ว
ครั้งแรกแม้จะมีความน้อยใจเสียใจอยู่บ้าง เพราะมิได้ฉันอาหารสนองศรัทธาของคหบดีผู้มีศรัทธา
แต่ก็ได้พากันเลิกฉันในเวลาวิกาล ทั้งนี้เพราะมีความจงรัก
ความเคารพ ความละอายและความเกรงกลัวพระพุทธองค์ ทั้งเห็นว่าการออกบิณฑบาตในเวลามืดค่ำนั้นเป็นการลำบาก
ทำให้พระสงฆ์ได้รับทุกข์มาก เช่นบางครั้งเดินไปตกบ่อน้ำครำบ้าง
ตกหลุมโสโครกบ้าง สะดุดตอเหยียบหนามบ้าง เหยียบแม่โคที่กำลังหลับอยู่บ้าง
พบพวกโจรบ้าง ถูกผู้หญิงยั่วยวนบ้าง แม้ท่านเองก็เคยถูกผู้หญิงด่าและติเตียน
โดยหญิงคนนั้นกำลังล้างภาชนะอยู่ในเวลามือค่ำ พอฟ้าแลบก็เหลือบมองไปเห็นท่าน
จึงตกใจกลัวร้องดังลั่นขึ้นที เพราะเข้าใจว่าเป็นปีศาจร้าย
เมื่อท่านแจ้งให้ทราบความจริงแล้ว หญิงคนนั้นจึงด่าและติเตียนว่า
การเที่ยวบิณฑบาตเวลาค่ำคืน เพราะเห็นแก่ปากแก่ท้องนั้นไม่ดีเลย
เอามีดคว้านท้องตายเสียดีกว่า การเที่ยวหากินกลางคืนเป็นเรื่องของพระไม่มีพ่อไม่มีแม่
จึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ท่านเห็นเหตุผลดังกล่าวนี้จึงได้นำความดำริของตนไปกราบทูลพระพุทธองค์ดังกล่าว
แล้ว เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบแล้ว ได้ทรงมีพระดำรัสชมเชยความดำริของท่าน
แล้วทรงแสดง ลฑุกิโกปมสูตร โปรดท่านตั้งแต่ต้นจนจบ
ท่านพระอุทายี มีความเฉลียวฉลาดในการเทศนา และสนทนาธรรม ทั้งมีอัธยาศัยอ่อนโยนดังกล่าวนี้
ท่านจึงได้รับยกย่องว่า "มหาอุทายี" บ้าง "บัณฑิตอุทายี"
บ้าง
จาก
สารานุกรม พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน