เนื้อหาภายใน
หน้าแรก
คำนำ
พระบรมสารีริกธาตุ
  ความหมาย
  ประเภท
  คุณลักษณะ
  ลักษณะต่างๆ
  พระธาตุลอยน้ำ
ตำนานการเกิด
  ตำนานการเกิด
  สถานที่ประดิษฐาน
  พระอดีตพุทธเจ้า
  ธาตุปรินิพพาน
พุทธเจดีย์
  พุทธเจดีย์
  บุคคลที่ควรสร้างสถูป
  เจดีย์ประจำนักษัตร
พระธาตุพุทธสาวก
  พระธาตุพุทธสาวก
  สาวกธาตุพุทธกาล
  สาวกธาตุปัจจุบัน
บูชาพระธาตุ
  บูชาพระธาตุ
  อัญเชิญพระธาตุ
  บทบูชาพระธาตุ
  สรงน้ำพระธาตุ
  ในพุทธดำรัส และพระสาวก
  ในเทวดาและเปรต
พระธาตุปาฏิหาริย์
  พระธาตุปาฏิหาริย์
  ลักษณะการเกิด
  ประสบการณ์พระธาตุ
ภาพถ่ายพระธาตุ
  พระบรมธาตุ 1
พระบรมธาตุ 2
พระบรมธาตุ 3
  สาวกธาตุพุทธกาล
  สาวกธาตุปัจจุบัน
  วิธีถ่ายภาพพระธาตุ
บทความเกี่ยวกับพระธาตุ
พิพิธภัณฑ์พระธาตุ
กระดานข่าวสนทนา
บรรณานุกรม
บอกกล่าว
ภาพถ่ายพระธาตุ <<< กลับไปหน้าภาพถ่ายพระธาตุพระอรหันตสมัยพุทธกาล

พระอรหันตธาตุสมัยพุทธกาล**

พระมหากปินะ

 

"พระมหากปินะ สัณฐานดังผลชะเอม พรรณขาวแดงข้างอย่างหนึ่ง
เขียวข้างแดงข้างอย่างหนึ่ง เหลืองข้างเขียวข้างอีกอย่างหนึ่ง"

ประวัติ พระมหากปินะ หรือ พระมหากัปปินเถระ เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทภิกษุ

พระมหากัปปินะ เป็นพระโอรสของพระมหากษัตริย์ผู้ครองนครภุกฎวดี ในปัจจันตชนบท มีพระนามเดิมวา “กัปปินะ” เมื่อพระราชบิดาทิวงคตแล้วได้ครอบครองราชย์สมบัติสืบต่อมา ได้พระนามใหม่ว่า “พระเจ้ามหากัปปินะ” มีพระอัครมเหสีพระนามว่า “อโนชาเทวี” ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระราชาผู้ครองนครสาคละ แห่งแคว้นมัททรัฐพระเจ้ามหากัปปินะ มีพระราชหฤทัยใฝ่ต่อการศึกษาแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะทรงฝักใฝ่ในการออกบวชเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานอันเป็นคุณธรรมเบื้องสูง ทุก ๆ วันพระองค์จะส่งอำมาตย์ออกไปสืบข่าวจากทิศทั้ง ๔ ว่ามีข่าวอะไรบ้าง โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับพระรัตนตรัย อำมาตย์เหล่านั้นออกจากพระนครไปไกล ๒-๓ โยชน์ทุกวัน ค่ำแล้วก็กลับมารายงานข่าวให้ทรงทราบ พระเจ้ามหากัปปินะ มีม้าอันเป็นพระราชพาหนะ ๕ ม้า คือ ม้าชื่อพละ ม้าชื่อพลวาหนะ ม้าชื่อปุปผะ ม้าชื่อปุปผวาหนะ และ ม้าชื่อสุปัตตะ โดยปกติพระองค์จะทรงม้าชื่อสุปัตตะ เป็นประจำ ส่วนม้าที่เหลือจะพระราชทานให้อำมาตย์หรือทหารใช้เป็นพาหนะไปสืบข่าวต่าง ๆ ทรงทราบข่าวพระรีตนตรัยเกิดขึ้นในโลก วันหนึ่ง พระองค์เสด็จประพาสราชอุทยานพร้อมด้วยอำมาตย์ และข้าราชบริพาร ๑,๐๐๐ คน ได้พบพ่อค้าที่เดินทางมาจากเมืองสาวัตถี รับสั่งให้เข้าเฝ้าถามข่าวสารจากเมืองสาวัตถุนั้น ครั้นเมื่อพ่อค้าได้กราบทูลว่า:-

“ขอเดชะ ข่าวอื่นไม่มี แต่ในเมืองสาวัตถีนั้น บัดนี้ มีพระพุทธเจ้า มีพระธรรม และมี
พระสงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก พระเจ้าข้า”

พระเจ้ามหากัปปินะ พอได้สดับคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่านั้น ทั่วทั้งพระวรกายถูกปีติโสมนัสเข้าครอบงำอย่างท่วมท้น จนหลงลืมพระสติไปชั่วขณะ พอสติสัมปปชัญญะ กลับคืนมาแล้ว พระองค์ได้ตรัสถามซ้ำอีกถึง ๓ ครั้ง บรรดาพ่อค้ากราบทูลยืนยันเช่นเดิม จึงรับสั่งให้อำมาตย์เขียนพระราชสาสน์ ถึงพระชายา รับสั่งให้พระราชทานรางวัลแก่พ่อค้าจำนวน ๓ แสนกหาปณะ และขอสละราชสมบัติให้พระชายารับครอบครองสืบต่อไป ส่วนพระองค์เองพร้อมด้วยอำมาตย์ผู้ใกล้ชิดเหล่านี้ จะขอออกบวชอุทิศเฉพาะแต่พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล้ว มอบพระราชสาสน์นั้นให้พ่อค้านำไปถวายแด่พระชายา แม้อำมาตย์เหล่านั้นก็เขียนจดหมายถึงภรรยาของตน ๆ ดุจเดียวกัน จากนั้นได้ติดตามพระมหากัปปินะ ออกจากพระราชอุทยานมุ่งสู่พระนครสาวัตถี

เสด็จออกผนวชพร้อมด้วยอำมาตย์

เส้นทางเสด็จของพระเจ้ามหากัปปินะนั้น เต็มไปด้วยความยากลำบากทุรกันดารผ่านทั้งป่าและภูเขา โดยเฉพาะมีแม่น้ำใหญ่ ๓ สาย คือ แม่น้ำอารวปัจฉา แม่น้ำนีลวาหนา และแม่น้ำจันทภคา ขวางหน้าอยู่ ซึ่งแต่ละสายนั้น ทั้งกว้างและลึกมาก จะข้ามได้ก็ต้องอาศัยเรือหรือแพขนาดใหญ่ ซึ่งก็หาได้ยาก พระเจ้ามหากัปปินะ ทรงมีพระดำริว่า “ถ้าจะรอเวลาหาเรือหรือแพก็จะทำให้ล่าช้า เพราะความเกิดนำไปสู่ความแก่ ความแก่นำไปสู่ความเจ็บและความเจ็บนำไปสู่ความตาย ทุกลมหายใจเข้าออกย่อมนำไปสู่ความแก่และความตายทั้งนั้น เราไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อไร ดังนั้นเราออกบวชเพื่ออุทิศต่อพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งรัตนตรัยนั้น ขอให้น้ำนี้จงอย่าได้เป็นเหมือนน้ำเลย” ครั้นทรงมีพระดำริดังนี้แล้ว ทรงระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย มีพุทธานุสติเป็นต้นแล้ว เสด็จลงสู่แม่น้ำพร้อมทั้ง บริวาร ๑,๐๐๐ คน ม้าทั้งหลายวิ่งไปบนผิวน้ำเหมือนกับวิ่งบนแผ่นดิน แม้แต่ปลายกีบม้าก็ไม่เปียกเลยสักนิดเดียว

พระพุทธองค์ทรงรับเสด็จ

เวลาใกล้รุ่งของราตรีนั้น พระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลก ได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้ามหากัปปินะ พร้อมทั้งบริวาร ผู้ทรงสละราชสมบัติ ออกผนวชอุทิศเฉพาะพระรัตนตรัย ท้าวเธอพร้อมทั้งบริวารจักบรรลุพระอรหัตผลพร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลาย สมควรที่ที่เราตถาคตจักกระทำการต้อนรับเสด็จครั้นแล้ว พระพุทธองค์ทรงบาตรและจีวรเสด็จออกต้อนรับสิ้นระยะทาง ๑๒๐ โยชน์ ประหนึ่งว่าพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงต้อนรับกำนันนายบ้าน ฉะนั้น ได้ประทับเปล่งพระรัศมีภายใต้ร่มต้นนิโครธ ณ ริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคาพระเจ้ามหากัปปินะ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระรัศมีนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า “แสงสว่างนี้ไม่ใช่แสงจันทร์ แสงอาทิตย์ หรือแสงสว่างจากเทวดาตนใดตนหนึ่ง จักต้องเป็นแสงสว่างแห่งพระบรมศาสดาอย่างแน่นอน” เมื่อทรงพระดำริดังนี้แล้วเสด็จลงจากหลังม้าพร้อมทั้งบริวาร เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตามสายแห่งพระรัศมีนั้น ถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาให้สดับจบลงแล้ว พระราชาพร้อมทั้งบริวารได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วกราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ได้ประทานด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา

พระราชเทวีและภรรยาอำมาตย์ออกบวช

พระนางอโนชาเทวี ได้รับข่าวสารจากพ่อค้าเหล่านั้น ตรัสซักถาม ได้ทราบความแน่ชัดทุกประการแล้ว เกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าเช่นกัน ให้รางวัลแก่พ่อค้าเหล่านั้นแล้ว ชักชวนภรรยาอำมาตย์ทุกคนเสด็จออกบวช โดยทำนองเดียวกันกับพระราชสามี พระพุทธองค์ทรงรับเสด็จดุจเดียวกันกับพระเจ้ามหากัปปินะ และทรงบันดาลฤทธิ์มิให้สามีภรรยาเหล่านั้นเห็นกัน เพื่อมิให้เป็นอันตรายต่อการฟังธรรม เมื่อพระนางเสด็จมาถึงแล้วได้กราบทูลถามถึงพระราชสามีและหมู่อำมาตย์ พระบรมศาสดารับสั่งให้ประทับนั่งลงก่อนแล้วจะได้พบกัน ณ ที่นี้ เมื่อพระราชเทวีและหญิงเหล่านั้นประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาให้สดับ เมื่อจบธรรมกถา พระราชเทวีและหญิงเหล่านั้นได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ส่วนพระเจ้ามหากัปปินะ และภิกษุบริวารเหล่านั้น ซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วยได้บรรลุพระอรหัตผลด้วยกันทั้งหมด พระพุทธองค์จึงทรงคลายฤทธิ์ให้พระราชเทวีเห็นพระราชสามี และหญิงเหล่านั้นเห็นสามีของตน ๆ แล้วกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์รับสั่งให้ไปอุปสมบทในสำนักของนางภิกษุณีที่เมืองสาวัตถี และพระพุทธองค์ก็ทรงพาภิกษุเหล่านั้นเสด็จสู่กรุงสาวัตถี

พระเจ้ามหากัปปินะเปล่งอุทาน

พระเจ้ามหากัปปินะนั้น ไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่พักหรือที่ใดก็ตามท่านมักจะเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ สุขหนอ” อยู่เสมอ ภิกษุทั้งหลายคิดว่าท่านยังรำลึกถึงความสุขในราชสมบัติอยู่ จึงพากันไปกราบทูลพระบรมศาสดา พระพุทธองค์แม้ทรงทราบแล้ว แต่ก็รับสั่งให้พระเจ้ามหากัปปินะเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามเหตุแห่งการเปล่งอุทานให้ได้ยินกันทั่ว ณ ที่นั้น เพื่อคลายความสงสัยแล้วตรัสว่า:-

“ภิกษุทั้งหลาย พระมหากัปปินะบุตรของเรานี้ เปล่งอุทานอย่างนั้นเพราะปรารภอมต มหานิพพาน เป็นการเปล่งเพราะความเอิบอิ่มในธรรม”

ได้รับยกย่องในตำแหน่งเอตทัคคะ

ท่านได้รับมอบหมายจากพระบรมศาสดา ให้เป็นผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งท่านก็ได้สนองพระบัญชาด้วยดีพระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้ให้โอวาทภิกษุ

จาก http://84000.org

<<< back

พระบรมสารีริกธาตุ และ พระธาตุพระพุทธสาวก
พุทธบูชา 2542 - 2553 @ http://www.relicsofbuddha.com