พระกังขาเรวัตตะ
"พระกังขาเรวัตตะ
สัณฐานกลม งอกกระปุ่มกระป่ำดังภูเขา
พรรณเขียวดังสีลูกปัด สีปีกแมลงทับ สีลูกจันทน์อ่อน"
ประวัติ
พระกังขาเรวตเถระ เอตทัคคะในทางผู้เพ่งด้วยฌาณ
พระกังขาเรวตะ
เป็นบุตรเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี เดิมชื่อว่า เรวตะ เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
ทั้ง ๆ ที่ยังมิเคยเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมกถามาก่อนเลย คงเป็นด้วยอุปนิสัยวาสนาบารมีเก่าส่งเสริม
แอบนั่งฟังธรรมท้ายสุด
ต่อมาได้เห็นอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ถือดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะและของหอม
ไปยังพระเชตวันมหาวิหาร จึงติดตามไปด้วยแล้วนั่งอยู่ท้ายสุด
หมู่พุทธบริษัท เพราะตนเองเป็นผู้ใหม่ รอเวลาที่พระบรมศาสดาจะทรงแสดงพระธรรมเทศนา
โดยปกติธรรมดาของพระผู้มีพระภาค ทุกครั้งก่อนที่พระองค์จะแสดงธรรม
จะทรงพิจารณาตรวจดูอุปนิสัยของพุทธบริษัทที่ประชุมกัน ณ ที่นั้นว่าผู้ใดมีบุญวาสนาบารมีสั่งสมบารมี
ซึ่งพอจะเป็นปัจจัยส่งผลให้บรรลุคุณธรรมพิเศษบ้างหรือไม่ และพิจารณาว่าธรรมหมวดไหนเหมาะสมแก่ฟังนั้น
ๆ เมื่อทรงพิจารณาไปโดยรอบ ก็ทอดพระเนตรเห็นเรวตมาณพ เข้าสู่ข่ายคือ
พระญาณของพระองค์ ว่าเป็นผู้มีอุปนิสัยบารมีสั่งสมมาดีแต่อดีตชาติ
สามารถจะบรรลุมรรคผลได้ จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถา
เพื่อขัดเกล่าอุปนิสัยให้สะอาดหมดจด ปราศจากความยินดีในกามคุณที่เคยบริโภคใช้สอยมาก่อนใจความในอนุปุพพิกถา
ถือถ้อยคำที่กล่าวไปโดยลำดับ ๕ ประการ คือ
๑. ทานกถา กล่าวถึงอานิสงส์ของการบริจาคทาน
๒. สีลกถา กล่าวถึงการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๓. สัคคกถา กล่าวถึงเรื่องสวรรค์อันอุดมด้วยทิพยสมบัติ
๔. กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกามคุณ ๕ ว่าเป็นเหตุนำทุกข์มาให้
๕. เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวถึงอานิสงส์ของการออกบวชว่า เป็นอุบายที่จะให้บรรลุพระนิพพานอันเป็นบรมสุข
เมื่อจบพระธรรมเทศนา เรวตมาณพก็เกิดศรัทธาแก่กล้ายิ่งขึ้น
จึงกราบทูลขออุปสมบทในพุทธศาสนา พระพุทธองค์ประทานให้ตามประสงค์
ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้ศึกษาพระกรรมฐานจากพระบรมศาสดาแล้วปลีกตัวอยู่ในสถานที่อันสงบสงัด
อุตสาห์บำเพ็ญเพียรพระกรรมฐานจนได้บรรลุโลกิยฌาน แล้วทำฌานที่ได้แล้วนั้น
ให้เป็นพื้นฐานในการเจริญวิปัสสนา ไม่ช้านักท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
สิ้นอาสวกิเลส เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา
เหตุที่ได้นามว่ากังขาเรวตะ
พระเรวตะนั้น ภายหลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว ขณะที่ท่านยังเป็นปุถุชนยังมิได้บรรลุพระอรหัตผล
เมื่อท่านได้รับกัปปิยวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ สิ่งใด ๆ มาแล้ว
ท่านมักจะคิดกังขาคือ สงสัยก่อนเสมอว่า ของสิ่งนี้เป็นของถูกต้องพุทธบัญญัติ
สมควรแก่บรรพชิตที่จะใช้สอยหรือไม่ (กัปปิยะ= เป็นของควร,
อกัปปิยะ = เป็นของไม่ควร) เมื่อท่านพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า
เป็นของที่บรรพชิตบริโภคใช้สอยได้ไม่ผิดพระวินัย ท่านจึงใช้สอยของสิ่งนั้น
ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มักสงสัยอยู่เป็นประจำ จนเป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่พระภิกษุทั้งหลาย
ดังนั้น คำว่า กังขา จึงถูกเรียกรวมกับชื่อเดิมของท่านว่า
กังขาเรวตะ หมายถึง พระเราวตะผู้ชอบสงสัย แม้ว่าภายหลังท่านได้บรรลุพระอรหัตผล
สิ้นกิเลสอันเป็นเหตุแห่งวิจิกิจฉา คือความลังเล สงสัยแล้วก็ตาม
นามว่ากังขาเรวตะ ก็ยังเป็นที่เรียกขานของเพื่อนสหธรรมิกอยู่ตลอดไป
ได้รับยกย่องในตำแหน่งเอตทัคคะ
พระกังขาเรวตะ เป็นผู้มีความชำนาญในฌานสมาบัติ ทั้งที่เป็นโลกิยะ
และโลกุตระ แม้กระทั่งฌานสมาบัติอันเป็นพุทธวิสัย คือ ฌานสมาบัติที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้นจะพึงเจริญ
มิได้ทั่วไปแก่พระสาวกทั้งหลาย ด้วยว่า ความสุขอันเกิดจากฌานสมาบัตินั้น
ไม่มีโลกิยสุขใด ๆ ในโลกจะเทียบเท่าได้เลย เรียกว่า สันติสุข
คือ สุขที่เกิดจากความสงบ ส่วนสุขอันเป็นโลกีย์นั้นต้องพึ่งพิงอิงอาศัยอามิสต่าง
ๆ อันได้แก่ บุคคล สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น เข้ามาช่วยให้เกิดความสุข
และความสุขแบบโลกีย์นี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เพราะเมื่อยามที่ยังมีอยู่
ก็รู้สึกเป็นสุข แต่เมื่อยามสิ่งของเหล่านั้นอันตรธานหรือชำรุดเสียหายไปก็จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
แต่ความสุขอันเกิดจากฌานสมาบัตินั้นเป็นสุขที่เที่ยงแท้แน่นอน
ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเป็นสุขที่เกิดจากความไม่มีทุกข์ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้
พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย
ในทาง ผู้เพ่งด้วยฌาน, ผู้ยินดีในฌานสมาบัติท่านดำรงอายุสังขาร
ช่วยกิจการพระศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
จาก
http://84000.org