หลวงปู่มั่น
ภูริทตฺโต
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชิ่อจันทร์
เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม
พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก
ผิวดำแดง แข็งแรงว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาดเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย
ได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอา คือ เรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย
อักษรธรรม และอักษรขอมอ่านออกเขียนได้
เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักบ้านคำบง
ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ
ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว เพราะเอาใจใส่ในการเรียนดี
ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่อท่านอายุได้
๑๗ ท่านได้ลาสิกขาออกไปช่วยงานบิดามารดา เมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่เคยลืมเลย
อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า เจ้าต้องบวชให้ยาย
เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก
ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่า มีความอยากบวชเป็นกำลัง
จึงอำลาบิดามารดาบวช ในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถระ
วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรมเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา
ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ มี พระครูสีทา ชยเสโน
เป็นพระกรรมวาจาย์ และพระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะขนานนามมคธ
ให้ว่า ภูทตฺโต ได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระ กับ พระอาจารย์เสาร์
กันตศีลเถระ ณ วัดเลียบ
ได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ
อาจาระ ความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร แล้อุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรีบยร้อยดี
จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ
คือ เดินจงกลม นั่งสมาธิ สมาทานธุดงควัตร ต่างๆ ในกาลต่อมา
ได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับ
เจ้าพระคุณอุบาลีฯ (สิริจันทรเถระ จันทร์) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง
๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ยังเกียรติคุณของท่าน
ให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป
ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ
๑.ปังสุกุลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสกุล
๒.บิณฑบาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารยวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์
๓.เอกปัตติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาต ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์
๔.เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์
ปัจฉิมบท
ในวัยชรา นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านหลวงปู่มั่น
มาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร ณ เสนาสนะป่า บ้านนามน ตำบลตองโขบ
อำเภอเมือง (ปัจจุบัน เป็นอำเภอโคกศรีสุพรรณ) ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗
จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาในอำเภอพรรณานิคม
จังหวัดสกลนคร จนถึง ปีสุดท้ายของชีวิตตลอดเวลา ๘ ปี ในวัยชรานี้
ท่านได้เอาธุระ อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมากเมื่อท่านมีอายุย่างขึ้น
๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิด ได้เอาธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว
ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ได้นำท่านมาพักที่
วัดป่าสุทธาวาส มาถึงวัด เวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓
น.ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ
สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วัน รวม ๕๖
พรรษา
ธรรมโอวาท
คำที่เป็นคติ อันท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อยๆ
๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นนับว่าเลิศ
๒. ได้สมบัติทั้งปวง ไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง
ภาพพระธาตุ
แหล่งข้อมูล-ภาพประกอบ:
วัดสันติธรรม. 2548. 50 ปี สันติธรรมานุสรณ์.
กลางเวียงการพิมพ์, เชียงใหม่ |