หลวงปู่พระโพธิญาณเถร
(ชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภทฺโท) หรือ หลวงพ่อชา หรือ อาจารย์ชา
เกิดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2461 ตรงกับ วันศุกร์ขึ้น
7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย ณ บ้านจิกก่อ หมู่ที่ 9 ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ
จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อนายมา ช่วงโชติ มารดาชื่อ นางพิมพ์
ช่วงโชติ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน 10 คน
หลวงพ่อชาได้รับการศึกษาชั้นประถมศึกษา
ณ โรงเรียนบ้านก่อ ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี จนจบชั้นประถมปีที่
1 แล้วได้ลาออกจากโรงเรียนเพราะมีจิตใจใฝ่ทางบวชเรียน ภายหลังเมื่อบวชเรียนแล้วได้เรียนหนังสือธรรมเรียนบาลีไวยากรณ์
เรียนมูลกัจจายน์ จนสามารถอ่านแปลภาษาบาลีได้ และได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้ชั้นสูงสุดสายนักธรรม
คือ สอบได้นักธรรมชั้น เอก
เมื่ออายุ
13 ปี หลังจากลาออกจากโรงเรียนประถมศึกษาแล้ว โยมบิดาได้นำไปฝากกับเจ้าอาวาสเพื่อเรียนรู้บุพกิจเบื้องต้นเกี่ยวกับบรรพชาวิธี
จึงได้รับอนุญาตให้บรรพชาเป็น สามเณรชา โชติช่วง เมื่อเดือน
มีนาคม พ.ศ. 2474 โดยมีท่านพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง) อดีตเจ้าอาวาส
วัดมณีวนาราม อุบลราชธานี เป็นอุปัชฌาย์สามเณรชา โชติช่วง
ได้อยู่จำพรรษาและศึกษาพระปริยัติธรรม ตลอดจนอยู่ปฏิบัติครูอาจารย์
เป็นเวลา 3 ปี ได้เอาใจใส่ต่อภารกิจของสามเณรท่องสวดมนต์ ทำวัตร
ศึกษาหลักสูตรนักธรรมปฏิบัติพระเถระ แล้วจึงได้ลาสิกขาบทมาช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา
ทั้งนี้ด้วยความจำเป็นของครอบครัวแบบชาวไร่ชาวนาอีสานทั่วไป
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ด้วยจิตใจที่ใฝ่ในการบวชเรียน จึงสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องอุปสมทบเป็นพระให้ได้
เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ภายหลังเมื่อตกลงกับบิดามารดาและท่านทั้ง
2 ก็อนุญาติแล้วจึงได้ฝากตัวที่วัดก่อในที่ใกล้บ้าน แล้วได้รับอนุญาติให้อุปสมบทได้เมื่อวันที่
26 เมษายน พ.ศ. 2482 เวลา 13.55 น. ณ พัทธสีมา วัดก่อใน ตำบลธาตุ
อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี โดยมีพระเถระสำคัญที่ให้การอุปสมบทดังนี้
พระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอธิการสอน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระชา สุภทฺโท ได้จำพรรษาอยู่
ณ วัดก่อนอก 2 พรรษา ตั้งใจศึกษาปริยัติธรรม ทั้งจากตำรับตำราและจากครูอาจารย์
จนสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในสำนักวัดก่อนอกนี้
เมื่อพระชา
สุภทฺโท สอบนักธรรมตรีได้แล้ว ก็อยากเรียนให้สูงขึ้นเพราะมีจิตใจรักชอบทางธรรมอยู่แล้ว
แต่ขาดครูอาจารย์ในการสอนระดับสูงต่อไป นึกถึงภาษิตอีสานที่ว่า
"บ่ออกจากบ้านบ่ฮู้ฮ่อมทางเทียว บ่เฮียนวิชาห่อนสิมีความฮู้"
ชีวิตช่วงนี้จะเห็นได้ชัดว่า พระชา สุภทฺโท มุ่งเรียนปริยัติธรรมให้สูงสุด
จึงทุ่มเทให้การศึกษษทั้งนักธรรมและบาลี และผ่านสำนักต่างๆ
มากมายจนในที่สุดก็สอบนักธรรมได้ครบตามหลักสูตร คือ สอบนักธรรมชั้นโทได้
ในสำนักของ พระครูอรรคธรรมวิจารณ์ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสำนักวัดบ้านก่อนอกถิ่นเกิด
เมื่อเสร็จภารกิจการศึกษา
ประกอบกับเกิดธรรมสังเวชคราวโยมบิดาเสียชีวิต จึงหันมาสู่การปฏิบัติธรรม
โดยออกธุดงค์และศึกษาหาแนวทางปฏิบัติในสำนักต่างๆ ผ่านอาจารย์ก็มากมาย
เช่น หลวงปู่กินรี หลวงปู่เถระชาวเขมร อาจารย์คำดี พระอาจารย์มั่น
พออินทรีย์แก่กล้าแล้วก็ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมต่อไปเรื่อยๆ
โดยยังดำรงสมณเพศเป็นพระมหานิกายอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดได้รับอาราธนาจากโยมมารดาและพี่ชาย
เพื่อกลับไปโปรดสัตว์ที่บ้านเกิด เมื่อ พ.ศ. 2497 ก็ได้ดำเนินการสร้างวัดป่าขึ้น
ซึ่งเรารู้จักในปัจจุบัน คือ "วัดหนองป่าพง" และท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้มาโดยตลอด
และถึงแก่มรณภาพเมื่อ 16 มกราคม 2535 เวลา 05.30 น. อย่างสงบท่ามกลางธรรมสังเวชของศิษยานุศิษย์จากทุกสารทิศ
ธรรมโอวาท
๑. โลกนี้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไป จะอยู่ที่โน่นก็เปลี่ยนแปลง
อยู่ที่นี่หรือที่ไหนก็เปลี่ยนแปลงเพราะพวกเราทั้งหลายอยู่ได้ด้วย
การเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราก็อยู่ไม่ได้ หายใจ
ออกมาแล้วก็เปลี่ยนเป็นหายใจเข้า แล้วก็หายใจออก ไม่เช่นนั้น
ก็อยู่ไม่ได้ ออกไปหมดก็อยู่ไม่ได้ ลมเข้ามาแล้วไม่ออกก็อยู่ไม่ได้
เราทั้งหลายอยู่ในโลกนี้ก็เป็นของโลก มันเป็นของๆ โลก ไม่ควร
ทำความน้อยใจ ไม่ควรทำความเสียใจใดๆ เราต้องเป็นผู้มีจิตใจ
เข้มแข็ง จะตกไปอยู่ที่ไหนก็สร้างแต่คุณงามความดี แม้หมดชีวิต
ก็อย่าทิ้งคุณงามความดี
๒.ผู้ไปยึดอารมณ์จะเป็นทุกข์
เพราะอารมณ์มันไม่เที่ยง
ภาพพระธาตุ