พระครูวิเวกพุทธกิจ
(เสาร์ กนฺตสีโล)
วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
พระอาจารย์เสาร์ ฉายา กนฺตสีโล เกิด ณ วันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ
เดือนยี่ปีระกา วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๒ ที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองซาง
อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ท่านอุปสมบทอยู่ที่วัดใต้จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นพระธรรมยุต
ที่วัดศรีทอง มีพระครูชา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ และมี
เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปทางสมาธิวิปัสสนา
และพอใจแนะนำคำสั่งสอนผู้อื่น ในทางนั้นด้วย จึงเป็นผู้ใฝ่ใจในธุดงค์วัตร
หนักในทางสมาธิ ชอบวิเวก และไม่ติดถื่นที่อยู่ และท่านได้รับความสงบใจ
ในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก เพราะการปฏิบัติสมาธิเป็นชื่อแห่งความเพียร
เป็นข้อปฏิบัติที่ดีปฏิบัติชอบ ซึ่งไม่มีข้ออื่นดียิ่งไปกว่านี้
ภายหลังจาก
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ไปอยู่ป่าดงฝึกจิตใจเจริญ ศีล สมาธิ
ปัญญา จำพรรษาท่ามกลางสิงสาราสัตว์ ในหุบเขาถ้ำลึก เป็นเวลาอันสมควร
ท่านจึงได้ออกมาเปิดสำนักปฏิบัติธรรมใน วัดเลียบ อำเภอเมือง
จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในสมัยก่อนนั้น มีพระสฆ์และฆราวาสที่สนใจจริงจังไม่มากนัก
ถึงกระนั้น ท่านก็มิได้ลดละพยายาม ท่านตั้งอกตั้งใจในการอบรม
สั่งสอนผู้สนใจในธรรม ให้เกิดความรู้แจ้งแก่ผู้ปฏิบัติ เพื่อเป็นหลักยืนยันว่า
การเจริญศีล สมาธิ ปัญญานี้ เป็นทางสงบ สามารถทำตนให้พ้นทุกข์ได้จริง
นอกจากหลวงปู่เสาร์
กนฺตสีโล จะเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ท่านยังมีความเคร่งครัดทางด้านพระวินัยอย่างมาก
ลูกศิษย์ทุกคนสมัยนั้น ท่านจะถือเอาวัตรปฏิบัติวิปัสสนาเป็นวิชาเอก
คือหมายถึงว่า เมื่อท่านได้อบรมแล้วแสดงพระสัทธรรมให้เป็นที่เข้าใจแล้วท่านจะส่งเสริมลูกศิษย์ทุกรูปให้ถือข้อธุดงควัตร
แยกออกจากหมู่มุ่งสู่ราวป่า มุ่งความแจ่มแจ้ง ในธรรมที่องค์พระบรมศาสดาทรงรับรองผล
หลวงปู่เสาร์
กนฺตสีโล พระบุพพาจารย์แห่งยุคได้อำลาละสังขารไปด้วยอาการสงบระงับอย่างสิ้นเชิง
ท่านได้อบรมสั่งสอน ศิษย์ต่างก็ยอมรับว่า หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
ได้ปฏิบัติกิจเสร็จสิ้นที่วัดมหาอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์
คืนวันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะแม วันที่ ๓ กุมภาพันธ์
๒๔๘๔ คำนวนอายุได้ ๖๒ พรรษา
ธรรมโอวาท
๑. ให้มนุษย์เราทุกคน รู้จักระลึกถึงคุณ พระพุทธเจ้า คือให้เจริญพุทธานุสติ
๒.ให้มนุษย์เราทุกคน เมื่อเกิดมาแล้ว เข้าใจตนว่า นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว
จงให้เจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นอนุสติ
๓. ให้มนุษย์เราทุกคน จงรู้ว่า เมื่อเกิดมาแล้ว จงรู้กฎของอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา ซึ่งหนีสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ คือ การเกิด แก่
เจ็บตาย จึงให้รู้ถึงความไม่เที่ยง มีความทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนเราเขา
ฉะนั้น จงเจริญ อสุภานุสติ
๔. ให้มนุษย์เราทุกคน จงพิจารณากองทุกข์ นับตั้งแต่เกิดมา
จนวาระสุดท้าย คือ ความตาย เพราะทุกคนหนีความตายไปไม่ได้ จงให้เจริญ
มรณานุสติ
ภาพพระธาตุ
แหล่งข้อมูล-ภาพประกอบ:
เว็บหลวงปู่มั่น;
วัดสันติธรรม. 2548. 50 ปี สันติธรรมานุสรณ์. กลางเวียงการพิมพ์,
เชียงใหม่ |