พระธาตุสัณฐานนอกตำรา
[แก้ไขครั้งที่
3/พ.ศ. 2551]
โดย: นัฐชัย แย้มพิกุลสกุล
บทนำ
...........พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุสมัยพุทธกาลนั้น
นับเป็นปูชนียวัตถุที่พุทธศาสนิกชนต่างให้ความเคารพนับถือ กอปรไปด้วยความเชื่อและศรัทธาอย่างสูง
เนื่องจากพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ ล้วนแต่บังเกิดมาจากสรีรกายแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์
อีกทั้งแต่ละพระองค์ ต่างมีคุณงามความดีและประวัติแสดงอยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาต่างๆ
อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอรหันต์ที่ได้รับการยอมรับจากพระพุทธเจ้า
ให้ดำรงตำแหน่งเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นพระอรหันต์ ผู้เลิศในด้านต่างๆ
มีความสามารถที่แสดงออกได้อย่างดีเยี่ยม มิมีผู้ใดจะเสมอเหมือน
ทำให้บุคคลเป็นจำนวนมาก ต่างเสาะแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ
มาเพื่อบูชาและน้อมระลึกถึงพระคุณของพระผู้เป็นต้นกำเนิดแห่งพระธาตุเหล่านั้น
แต่เนื่องจากพระอรหันต์นับแต่สมัยพุทธกาลเป็นต้นมา ต่างมีเป็นจำนวนมาก
จึงบังเกิดพระธาตุที่มีลักษณะสัณฐานต่างกันมากมาย ยากที่จะจำแนกความแตกต่างได้
...........ดังนั้น
นับตั้งแต่โบราณกาลมา จึงได้มีการบันทึกลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุไว้ในตำราต่างๆ
อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี
ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายความในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย เรียบเรียงโดยพระพุทธโฆษาจารย์
เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 10 โดยมีผู้สันนิษฐานว่าท่านได้เรียบเรียงขึ้นใหม่จากคัมภีร์มหาอรรถกถาเดิมของลังกา
ซึ่งปัจจุบันต้นฉบับสูญหายไปแล้ว ดังนั้นอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี
จึงนับได้ว่าเป็นตำราพระธาตุฉบับเก่าแก่ที่สุดที่พบในปัจจุบัน
มีการใช้อ้างอิงกันมากและมีความน่าเชื่อถือสูง แต่มีการบรรยายเพียงลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุเท่านั้น
โดยกล่าวถึงพระบรมสารีริกธาตุ 2 ประเภท ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุแบบไม่กระจัดกระจาย(นวิปฺปกิณฺณา
ธาตุ) และ พระบรมสารีริกธาตุแบบกระจัดกระจาย(วิปฺปกิณฺณา ธาตุ)
ส่วนในอรรถกถาอื่น พบว่ามีการกล่าวถึงลักษณะพระธาตุพระอรหันต์
3 องค์ ได้แก่ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระพักกุละ และ พระสันตติมหาอำมาตย์เท่านั้น
ดังนั้นการแยกลักษณะพระธาตุของพระอรหันตสาวก ปัจจุบันจึงนิยมใช้อีกตำราหนึ่ง
ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า ตำราพระธาตุของโบราณ เนื้อหาในตำราได้มีการเขียนคำบรรยายลักษณะ
ประกอบภาพวาดสัณฐานของพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุ 47
พระองค์ปัจจุบันพบว่าใช้อ้างอิงในหนังสือเกี่ยวกับพระธาตุแทบทุกเล่ม
กล่าวว่าผู้แต่งคือ เกษโรภิกขุ (นิรนาม, ม.ป.ป.) แต่ก็พบว่ามีการอ้างชื่อผู้แต่งอยู่เพียงเล่มเดียว
นอกจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าใครหรือท่านใดเป็นผู้รจนาขึ้น เพียงแต่ทราบว่าคัดลอกสืบต่อกันมา
โดยมีหลักฐานการกล่าวถึงตำราพระธาตุ ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน
4 ฉบับ เรียกตามชื่อผู้เป็นเจ้าของตำรา ได้แก่ ตำราพระธาตุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ตำราพระธาตุของคุณบุญช่วย สมพงษ์ อดีตอธิบดีกรมศาสนา
ตำราพระธาตุของนายแพทย์เกิด บุญปลูก และ ตำราพระธาตุของนางเสรษฐสมิธ
(ผอบ นรเสรษฐสมิธ) อย่างไรก็ดีจากการคัดลอกสืบต่อกันมา ทำให้เราได้ทราบว่าภายในตำราประกอบด้วยลักษณะสัณฐานและวรรณะของพระบรมสารีริกธาตุ
และพระธาตุพระอรหันตสาวก 47 พระองค์ ซึ่งรายนามพระอรหันต์ทั้ง
47 พระองค์นั้น แบ่งเป็นพระอรหันตสาวกสมัยพุทธกาลและพระอรหันตสาวกภายหลังพุทธปรินิพพานไม่นาน
รวมถึงพระนามพระอรหันต์ที่คัดลอกสืบต่อคลาดเคลื่อน จนกระทั่งไม่ทราบว่าเป็นองค์ใดในพุทธประวัติ
แต่อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่า ตำราพระธาตุ
ที่มีการยอมรับนับถือในประเทศไทยขณะนี้ มีอยู่ด้วยกันเพียง 2
ตำรา คือ อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี และ ตำราพระธาตุของโบราณ
เท่านั้น
พระบรมสารีริกธาตุแบบใดเรียกว่า
สัณฐานนอกตำรา
...........พระบรมสารีริกธาตุนั้น
ตามอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ซึ่งถือเป็นตำราชั้นแรกสุดที่มีการจำแนกลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุ
กล่าวไว้เพียง 3 ขนาด และ 3 สี ดังนั้นพระบรมสารีริกธาตุตามตำรานี้จะมีเพียง
9 ลักษณะเท่านั้น ส่วนตำราในชั้นหลัง ที่มีการกล่าวถึงขนาดและสีของพระบรมสารีริกธาตุ
เหมือนในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี เช่น ตำนานพระเจ้าเลียบโลก และคำนมัสการพระบรมสารีริกธาตุของโบราณ
พบว่ามีการระบุถึงขนาดและสีของพระบรมสารีริกธาตุที่จำเพาะเจาะจงดังนี้
ขนาดเล็ก - ประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาด สีดอกมะลิตูม
ขนาดเขื่อง - ประมาณเมล็ดข้าวสารหักกึ่ง สีแก้วมุกดา
และ ขนาดใหญ่ - ประมาณเมล็ดถั่วมุคคะ สีทองอุไร
รวมทั้งหมดมีเพียง 3 ลักษณะเท่านั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หากยึดความตามตำราในชั้นนี้
พระบรมสารีริกธาตุแม้จะมีสีตรงตามอรรถกถาแต่ขนาดไม่ตรงกับในตำรา
ก็ไม่อาจนับว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุได้เลย
...........อย่างไรก็ดี
ตำราพระธาตุของโบราณ ซึ่งเป็นตำราในชั้นหลังอีกฉบับหนึ่ง
กลับมีการเปลี่ยนจากคำว่า ขนาด ในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี
เป็นคำว่า สัณฐาน อีกทั้งมีการบรรยายสีของพระบรมสารีริกธาตุเพิ่มขึ้นอีก
3 สี ได้แก่ สีชมพู สีแดง และ สีทับทิม รวมถึงการเพิ่มเติมลักษณะพิเศษของพระบรมสารีริกธาตุ
ว่าอาจมีรูทะลุตลอดทั้งองค์ ขนาดเส้นผมลอดได้ ซึ่งการเพิ่มเติมลักษณะและการเปลี่ยนคำนี้เอง
ทำให้ลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุมีความแตกต่างหลากหลายจากอรรถกถาในพระไตรปิฎกมากขึ้น
แต่ถึงอย่างไรก็ตามกลับพบว่า พระบรมสารีริกธาตุ ที่เสด็จไปตามสถานที่หรือบุคคลต่างๆ
กลับมีขนาดและสีสันที่หลากหลาย มากกว่าที่บรรยายไว้ภายในตำราทั้งสองมากนัก
ดังนั้นหากเราติดสมมติ (คือตำรา)
ยึดเอาความตามตัวอักษรเป็นเส้นเพื่อตีกรอบสิ่งที่อยู่เหนือวิสัยมนุษย์พึงจะคาดเดาได้แล้ว
พระบรมสารีริกธาตุ ที่ชาวพุทธทั้งในและต่างประเทศศรัทธาจำนวนมาก
แม้จะมีที่มาน่าเชื่อถือเพียงใด ก็ไม่อาจนับว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุได้เลย
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น เราไม่อาจจะละทิ้งตำราได้เลยทีเดียว
เนื่องจากตำราพระธาตุทั้งสองฉบับ นับเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป
ในการจำแนกพระนามของพระอรหันตธาตุ และตัดสินแยกพระบรมสารีริกธาตุออกจากพระธาตุ
อย่างไรก็ตาม สาเหตุดังกล่าวข้างต้นจึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า
พระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ
จำเป็นต้องมีลักษณะตรงตามตำราเท่านั้นหรือไม่ ?
จะจำแนกพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุได้อย่างไร
...........พระบรมสารีริกธาตุที่พบในปัจจุบัน
โดยมีครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณยืนยันแล้วว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุจริง
ไม่ว่าจะมีที่มาอย่างใดก็ตาม (เช่น เสด็จมาเอง แบ่งองค์ อัญเชิญมาจากศรีลังกา
อินเดีย หรือ ประดิษฐานตามพระเจดีย์ต่างๆ) เมื่อรวบรวมนำข้อมูลลักษณะพระบรมสารีริกธาตุมาประมวลแล้ว
ทำให้ทราบว่ามีพระบรมสารีริกธาตุลักษณะสัณฐานไม่ตรงตามตำราอยู่เป็นจำนวนมาก
จึงอาจสรุปได้ว่า พระบรมสารีริกธาตุ ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะสัณฐานตามตำราเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อแม้แต่พระบรมสารีริกธาตุ
ยังมีลักษณะสัณฐานที่แตกต่างกันมากมาย จนกระทั่งไม่อาจใช้เพียงตำราเป็นเครื่องสรุป
พระธาตุพระอรหันตสาวกทั้ง 47 พระองค์ ที่มีบันทึกอยู่ในตำราพระธาตุของโบราณ
ก็ไม่สามารถใช้ลักษณะที่บรรยายอยู่ตามตำราพระธาตุของโบราณตัดสินตามนั้นได้เช่นกัน
ดังจะพบพระธาตุลักษณะที่ไม่ตรงตามตำรา เช่น พระอานนท์ ที่พบว่ามีลักษณะใสดุจเพชร(สุรีพันธุ์,
2543) หรือลักษณะคล้ายหินแตก แต่มีสีตรงตามตำรา(นิรนาม, ม.ป.ป.)
อีกทั้งพระธาตุพระอรหันตสาวกที่พบในต่างประเทศ (Anonymous, n.d.)
หลายๆองค์มีลักษณะที่ไม่ใกล้เคียงตามตำราเลยก็มี รวมถึงพบว่าลักษณะพระธาตุของพระสันตติมหาอำมาตย์และพระพักกุละ
ที่บรรยายไว้ในอรรถกถามีลักษณะเหมือนกันทุกประการ
นอกจากนี้การที่พระธาตุพระอริยสาวกในสมัยปัจจุบัน เช่น พระธาตุหลวงปู่เสาร์
กันตสีโล ที่ประดิษฐาน ณ วัดดอนธาตุ จ.อุบลราชธานี มีลักษณะคล้ายพระบรมสารีริกธาตุที่บรรยายไว้ในตำราพระธาตุของโบราณ
นี่เองจึงแสดงให้เห็นว่า ลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุในตำราโบราณ
ไม่สามารถใช้ในการจำแนกพระบรมสารีริกธาตุออกจากพระอรหันตธาตุด้วย
ทั้งนี้ผู้เขียนเองไม่ได้ไม่ให้เชื่อในตำรา
แต่ชี้ให้เห็นว่า ลักษณะต่างๆ ที่มีบันทึกไว้ในตำราพระธาตุของโบราณนั้น
ถึงจะเป็นลักษณะเฉพาะของพระอรหันตสาวกองค์นั้นจริง ก็อาจปฏิเสธไม่ได้ว่า
ในบรรดาพระธาตุของพระอรหันตสาวกองค์นั้น จะไม่มีลักษณะอื่นปนอยู่ด้วย
...........ดังนั้นเราจึงไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์หรือตำราใดๆที่ใช้เพียงลักษณะภายนอก
มาจัดจำแนกพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุเองได้เลย ยกเว้นว่าอนุโลมลักษณะว่าตรงตามตำรา
ซึ่งส่วนมากก็จะนิยมใช้เพียงสัณฐานในการกำหนด ส่วนวรรณะพระธาตุมักจะไม่ตรงกับสัณฐาน
ซึ่งก็เช่นเดียวกัน พระธาตุที่ตรงตามตำราแท้ๆแล้ว
มีน้อยและหายากมาก ดังนั้นที่เราๆเห็นกันอยู่ อาจเรียกได้ว่าเป็นพระธาตุสัณฐานนอกตำราเสียเป็นส่วนมาก
เอกสารอ้างอิง
สุรีพันธุ์
มณีวัต. 2543. ปิยารำลึก.
หจก. ป. สัมพันธ์พาณิชย์, กรุงเทพ.
นิรนาม. ม.ป.ป. พระบรมสารีริกธาตุ.
พี แอนด์ เอฟ กราฟฟิค จำกัด, กรุงเทพ.
นัฐชัย แย้มพิกุลสกุล. ม.ป.ป.พระบรมสารีริกธาตุ และ
พระธาตุพระพุทธสาวก. Available Source: http://www.relicsofbuddha.com,
2 สิงหาคม 2547.
นาคฤทธิ์. 2545. พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง.
ลานนาการพิมพ์, เชียงใหม่.
เล็ก ล่ำซำ. 2524. ตำราพระธาตุ. มหามกุฏราชวิทยาลัย,
กรุงเทพฯ.
ศิษย์พระกัมมัฏฐาน. 2528. ตำราพระธาตุ พระบรมสารีริกธาตุ
พระพุทธสาวกธาตุ. วัดญาณสังวราราม, ชลบุรี. (เอกสารไม่ตีพิมพ์)
Anonymous. n.d. Buddha Tooth Relic Temple (Singapore).
Available Source: http://www.singaporebuddhatooth.org.sg/Eng_Index_About.html,
August 2, 2005.
CD พระไตรปิฎก และ อรรถกถาไทย ฉบับธรรมทาน.
|